การทำสต็อกนมแม่และวิธีละลายนมแม่เพื่อไม่ให้เสียคุณค่าสารอาหาร
ภายหลังจากการปฏิสนธิ ฮอร์โมนจากรกจะกระตุ้นรังไข่ให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นเต้านม โดยเฉพาะต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม ตลอดจนเพิ่มกระแสเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเพื่อให้เต้านมพร้อมที่จะเป็นคุณแม่อย่างสมบูรณ์ นมแม่สร้างและผลิตจากเซลล์ที่บุอยู่ภายในกระเปาะขนาดเล็กของเนื้อเต้านม หล่อเลี้ยงจากเส้นเลือดบริเวณหน้าอก จนค่อย ๆ ผลิตน้ำนมทีละเล็กทีละน้อยแล้วเก็บสะสมอยู่ภายใน เมื่อลูกน้อยดูดกระตุ้นจะทำให้น้ำนมที่เก็บไว้นั้นขับออกมาจากกระเปาะผ่านเส้นทางของท่อน้ำนมจนไหลออกมาที่หัวนม ขณะที่ทารกดูดนมจะเป็นการกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโปรแลคตินที่จะกระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนม การดูดนมแม่ของทารกจึงช่วยให้ร่างกายของแม่ผลิตน้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ของนมแม่เรียกได้ว่าเป็น วัคซีนหยดแรก ของชีวิตลูก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถให้นานกว่า 6 เดือนได้ยิ่งดี โดย 6 เดือนแรกของชีวิตเป็นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว (Exclusive breastfeeding: ECBF) เพราะน้ำนมแม่นั้นสร้างจากธรรมชาติ ย่อยง่าย ปลอดภัย เหมาะกับร่างกายของทารก ทั้งยังมีสารอาหารเพียงพอ ดีต่อระบบการย่อยและดูดซึมของทารกที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จากนั้นในช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไป สามารถให้นมแม่ควบคู่กับอาหารชนิดอื่นตามวัยอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้นได้ยิ่งดี ยิ่งช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง
น้ำนมแม่นั้นมีประโยชน์มหาศาล ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย เช่น ช่วยลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคท้องเสียจากการติดเชื้อ ลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ลดความรุนแรงจากอาการป่วยด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV และในสถานการณ์โรคระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางยูนิเซฟก็ยังสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในน้ำนมของแม่มีสารภูมิคุ้มกันที่ปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อ โดยสารภูมิคุ้มกันและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีอยู่ในน้ำนมแม่ จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
อัพเดทข่าวเด็ก มาใหม่ แนะนำเพิ่มเติม : ป่วยแต่ตรวจ ATK ไม่ขึ้นสองขีด ให้เด็กหยุดเรียนทันที หมอย้ำโควิดรอบนี้ต้องกินยาให้เร็ว